วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

การออกกำลังกายแบบ FITT คืออะไร


นอกจากการเลือกรับประทานอาหารแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง ผู้เขียนเองมีความชอบส่วนตัวในการออกกำลังกาย เพราะเวลาที่ออกกำลังกายแล้วได้เหงื่อมาก ๆ ทำให้รู้สึกสดชื่นมาก ในการออกกำลังกายก็มีหลักการมากมายให้ผู้ที่ออกกำลังกายเลือกใช้ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการออกกำลังกายโดยใช้หลักการ FITT

การออกกำลังกายโดยหลักการ FITT
      FITT มีความหมาย ดังนี้
      F = Frequency ความบ่อยของการออกกำลังกาย ความเหมาะสมในการออกกำลังกายในหนึ่งสัปดาห์ควรออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 3 วัน และไม่เกิน 6 วัน และควรมีวันพักผ่อนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 1 วัน
      I = Intensity ความหนักของการออกกำลังกาย ผู้ออกกำลังกายมีความจำเป็นจะต้องทราบว่าควรออกกำลังกายเท่าใด จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและได้ผลดีที่สุด
      T = Time ความนานของการออกกำลังกาย ในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแต่ละครั้ง โดยทั่วไปควรใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 นาที (สำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬาควรเพิ่มเวลาให้นานขึ้น)
      T = Type รูปแบบของการออกกำลังกาย โดยทั่วไปการออกกำลังกายจะต้องคำนึงถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ความต่อเนื่องของกิจกรรม ความชอบ อุปกรณ์ที่มี เช่น วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ว่ายน้ำ ฯลฯ

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

"แก้วมังกร" ผลไม้มากประโยชน์




แก้วมังกรเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมาก เพราะเนื้อของไม้จะมีเม็ดสีดำเล็ก ๆ ให้ได้เคี้ยวกรุบ ๆ ด้วย รสชาติก็จะมีหลายรส ถ้าเป็นผลที่เก็บใหม่ ๆ จากต้น แล้วรับประทานทันทีรสชาติจะออกหวานอมเปรี้ยว แต่ถ้าเป็นผลที่เก็บแล้วทิ้งไว้สัก 1-2 วัน ให้ผลลืมต้น รสชาติจะหวานอร่อยมากเลยทีเดียว ซึ่งแก้วมังกรอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ ดังนี้

1. ช่วยบำรุงผิว มีส่วนช่วยบำรุงผิวทำให้ผิวสวยเรียบเนียน กระจ่างใสขึ้นและยังลดการเกิดสิวด้วย
2. ดับกระหายได้ดี ด้วยรสชาติหวานอ่อนๆ ของแก้วมังกร จึงช่วยดับกระหายได้อย่างดีเยี่ยมเลยล่ะ
3. เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีสรรพคุณเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง และยังช่วยต่าต้านโรคภัยต่างๆ ได้ดีทีเดียว
4. ตัวช่วยลดน้ำหนักได้ผล แก้วมังกร เป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงจึงทำให้ช่วยลดน้ำหนักและเป็นตัวช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี
5. สารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยป้องกันโรคและปกป้องผิวได้ดีทีเดียว
6. ป้องกันโรคร้าย มีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจและป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
7. ช่วยดูดซับสารพิษในร่างกาย สามารถช่วยดูดซับสารพิษในร่างกายได้ จึงทำให้ผิวพรรณของเราดูสดใสขึ้นและยังสุขภาพดีอีกด้วย
8. ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เนื่องจากมีกากใยสูงจึงสามารถช่วยในการขับถ่ายให้มีประสิทธิภาพขึ้น แถมยังช่วยในการปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้อีกด้วย
9. บำรุงกระดูกและฟัน มีสรรพคุณในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ซึ่งเหมาะกับสาววัยทองที่สุดเลยล่ะ
10. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง คนที่ทานแก้วมังกรบ่อยๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่ำกว่าคนที่ไม่กินแก้วมังกรเลย
ขอบคุณบทความจาก http://women.sanook.com/blog/author/kaew/

วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น

วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น

     วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระศาสนา ได้แก่ พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์  อีกเรื่องหนึ่งที่มีการกล่าวถึงเป็นสำคัญและเกี่ยวโยงกับพระศาสนาด้วย คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองเป็นสำคัญ วรรณคดีสมัยนี้มีวรรณคดีบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะแต่งเป็นลิลิต อันมีคำยากจากภาษาบาลีสันสกฤต และเขมรปะปนอยู่มาก ต้องแปลออก เข้าใจความหมาย จึงเกิดความซาบซึ้ง
     วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น มีดังต่อไปนี้
      ก. ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ได้แก่
           1. ลิลิตโองการแช่งน้ำ
      ข. ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีดังต่อไปนี้
           1. ลิลิตยวนพ่าย
           2. มหาชาติคำหลวง
      ค. ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) มีดังต่อไปนี้
           1. ลิลิตพระลอ
           2. โคลงหริภุญชัย
           3. โคลงทวาทศมาส 


วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

หนังสือรางวัลซีไรต์

หนังสือรางวัลซีไรต์

ซีไรต์ ทับศัพท์มาจากคำว่า  S.E.AWrite ซึ่งย่อมาจาก  SouthEast Asian Writers Awards  หมายถึง รางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่  บรูไน  กัมพูชา  อินโดนีเซีย ลาว  มาเลเซีย  พม่า ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  ไทย และเวียดนาม ชื่อเต็มในภาษาไทย คือ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน”  แต่มักจะเรียกย่อ ๆ ว่า "รางวัลซีไรต์" อันเป็นชื่อซึ่งรู้จักกันทั่วไปในวงการประพันธ์ของประเทศไทย


รายชื่อหนังสือรางวัลซีไนต์

ปี 2522  นวนิยาย  ลูกอีสาน  ผู้แต่ง คำพูน  บุญทวี



ปี 2523  กวีนิพนธ์  เพียงความเคลื่อนไหว  ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ปี 2524  เรื่องสั้น  ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ผู้แต่ง อัศศิริ ธรรมโชติ

ปี 2525  นวนิยาย คำพิพากษา ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ


ปี 2526  กวีนิพนธ์  นาฏกรรมบนลานกว้าง ผู้แต่ง คมทวน คันธนู

ปี 2527  เรื่องสั้น  ซอยเดียวกัน ผู้แต่ง วาณิช จรุงกิจอนันต์

ปี 2528  นวนิยาย  ปูนปิดทอง ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน

ปี 2529  กวีนิพนธ์  ปณิธานกวี ผู้แต่ง อังคาร กัลยาณพงศ์



ปี 2530  เรื่องสั้น ก่อกองทราย ผู้แต่ง ไพฑูรย์ ธัญญา

ปี 2531 นวนิยาย  ตลิ่งสูง ซุงหนัก ผู้แต่ง นิคม รายยวา

ปี 2532  กวีนิพนธ์  ใบไม้ที่หายไป ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตรปรีชา

ปี 2533  เรื่องสั้น อัญมณีแห่งชีวิต ผู้แต่ง อัญชัน



ปี 2534 นวนิยาย เจ้าจันทร์ผมหอม: นิราศพระธาตุอินแขวน ผู้แต่ง มาลา คำจันทร์

ปี 2535  กวีนิพนธ์ มือนั้นสีขาว ผู้แต่ง ศักดิ์ศรี มีสมสืบ 

ปี 2536 เรื่องสั้น ครอบครัวกลางถนน ผู้แต่ง ศิลา โคมฉาย


ปี 2537  นวนิยาย  เวลา ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ

ปี 2538  กวีนิพนธ์  ม้าก้านกล้วย ผู้แต่ง ไพรรินทร์ ขาวงาม

ปี 2539  เรื่องสั้น  แผ่นดินอื่น ผู้แต่ง กนกพงศ์ สงสมพันธ์

ปี 2540  นวนิยาย  ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ 

ปี 2541  กวีนิพนธ์  ในเวลา ผู้แต่ง แรคำ ประโดยคำ


ปี 2542  เรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ

ปี 2543  นวนิยาย อมตะ ผู้แต่ง วิมล ไทรนิ่มนวล

ปี 2544  กวีนิพนธ์  บ้านเก่า ผู้แต่ง โชคชัย บัณฑิต 

ปี 2545  เรื่องสั้น  ความน่าจะเป็น ผู้แต่ง ปราบดา หยุ่น

ปี 2546  นวนิยาย ช่างสำราญ ผู้แต่ง เดือนวาด พิมวนา


ปี 2547  กวีนิพนธ์  แม่น้ำรำลึก ผู้แต่ง เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ 

ปี 2548  เรื่องสั้น  เจ้าหงิญ ผู้แต่ง บินหลา สันกาลาคีรี

ปี 2549  นวนิยาย  ความสุขของกะทิ ผู้แต่ง งามพรรณ เวชชาชีวะ

ปี 2550  กวีนิพนธ์  โลกในดวงตาข้าพเจ้า: รวมบทกวีร่วมสมัย ผู้แต่ง มนตรี ศรียงค์

ปี 2551  เรื่องสั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ผู้แต่ง วัชระ สัจจะสารสิน

ปี 2552  นวนิยาย  ลับแล แก่งคอย ผู้แต่ง อุทิศ เหมะมูล

ปี 2553  กวีนิพนธ์  ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ผู้แต่ง ซะการีย์ยา อมตยา 

ปี 2554  เรื่องสั้น  แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ผู้แต่ง จเด็จ กำจรเดช

ปี 2555  นวนิยาย  คนแคระ ผู้แต่ง วิภาส ศรีทอง

ปี 2556  กวีนิพนธ์  หัวใจห้องที่ห้า ผู้แต่ง อังคาร จันทาทิพย์




ปี 2557 เรื่องสั้น  อสรพิษ  ผู้แต่ง แดนอรัญ  แสงทอง

ปี 2558 นวนิยาย ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ผู้แต่ง วีรพร  นิติประภา








วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก


       

         การลดน้ำหนักก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ที่มักมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ซึ่งบางครั้งความเข้าใจผิดนี้ก็อาจทำให้น้ำหนักของเราไม่ลง หรือหากว่าลดลงก็ไม่ได้ลดลงอย่างถาวรนั่นเอง ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าอะไรที่เป็นข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก


การอดอาหารคือการลดน้ำหนักที่รวดเร็ว
          หากว่าเราใจร้อนอดอาหารสัก 2-3 วัน เพื่อลดน้ำหนักให้ได้อย่างใจ สิ่งที่หายไปนั้นก็คือกล้ามเนื้อ และน้ำที่อยู่ภายในร่างกาย แต่ไขมันนั้นยังคงอยู่ถาวร ซึ่งหากว่าเป็นอย่างนั้น คงจะไม่ดีแน่ เพราะน้ำและกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้น หากว่าเราไม่อยากจะให้กล้ามเนื้อกับน้ำหายไปนั้น อย่าอดอาหารจะดีกว่า

ห้ามโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต
          หากเราลดน้ำหนักก็ควรกินโปรตีนและ
คาร์โบไฮเดรตเข้าไปด้วย เพียงแต่ว่าเราต้องเลือกกินเท่านั้นเอง อย่างคาร์โบไฮเดรตนั้นก็ให้เลือกกินแบบที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง หรืออาจจะกินข้าวโอ๊ต ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารแล้วก็ยังเป็นการช่วยลดน้ำหนักไปในตัวด้วย ส่วนโปรตีนก็ควรจะเลือกแบบที่ไม่ติดมันหรือไม่ก็เลือกกินโปรตีนจากเนื้อปลา

เราสามารถลดน้ำหนักอย่างพรวดพราดได้
          การลดน้ำหนักที่ทำให้รูปร่างของเราสวย ไม่ใช่เพียงแค่หุ่นสวยแต่ผิวพรรณของเรายังเปล่งปลั่งนั้น เราจะต้องลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป คือใน 1 อาทิตย์นั้น เราควรลดน้ำหนักประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม เท่านั้น เพราะหากว่ามากกว่านี้น้ำหนักของเราก็อาจจะลดลงเร็วเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวหนังของเราปรับตัวไม่ทันทำให้เหี่ยวย่นได้ นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอีกด้วย


งดของหวานทุกอย่างที่โปรด

          ช่วงเวลาของการลดน้ำหนัก เราอย่าไป
ทรมานร่างกายของตัวเองนัก ไม่เช่นนั้นจะทำให้รู้สึกเครียดโดยใช่เหตุ เราสามารถกินอาหารที่เราชอบ ที่ทั้งหวาน ทั้งมันได้ แต่ไม่ใช่การกินแบบไม่บันยะบันยัง เราสามารถกินขนมหวานได้ เพียงแต่ว่าเราต้องจำกัดปริมาณ โดยอาจจะกินสักครึ่งถ้วยแทนที่จะเป็น 1 ถ้วย เหมือนแต่ก่อนหรือเปลี่ยนจากชิ้นใหญ่ ๆ เป็นชิ้นเล็ก ๆ แทน

ยาถ่ายช่วยลดน้ำหนัก
          การใช้ยาถ่ายติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ นั้น ย่อมมีผลเสียต่อร่างกาย อย่างแรกเลยร่างกายของเราจะดื้อยา คราวนี้เราอาจจะต้องเพิ่มปริมาณยาไปเรื่อย ๆ และในที่สุดระบบการขับถ่ายของเราจะรวนไปหมด ถึงตอนนั้นก็จะทำให้เราเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง เมื่อเรากลับใจเลิกกินยาถ่ายก็จะเกิดโยโย่ หรือก็คือน้ำหนักเราจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว เนื่องจากเราไม่ได้ควบคุมอาหารแต่เป็นการนำอาหารในร่างกายออกมานั่นเอง

อาหารไขมันต่ำกินแล้วไม่อ้วน
          ความจริงแล้วมีอาหารอยู่หลายชนิดที่มีไขมันต่ำแต่ให้น้ำตาลในปริมาณสูงทดแทนกัน ทำให้เมื่อเทียบกันแล้ว ปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับนั้น ก็มีเกือบเท่ากับแบบที่มีไขมันปกติเลยทีเดียว ดังนั้นหากว่าเราอยากจะลดความอ้วนอย่างได้ผล ก่อนที่จะซื้ออาหารไขมันต่ำก็ควรตรวจดูสักนิดว่ามีน้ำตาลในปริมาณสูงหรือไม่ เพราะน้ำตาลในปริมาณมากก็ทำให้เราอ้วนขึ้นได้เช่นกัน

เปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่หมดทันทีช่วยลดความอ้วนได้อย่างดี
          วิธีการลดน้ำหนัก โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น เราไม่ควรจะทำแบบทันที หรือว่าเปลี่ยนไปหมด เราควรจะใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเช่น ลดปริมาณไขมันให้น้อยลง แต่ไม่ใช่อด จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนของอาหารสำหรับการลดน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ และลดสัดส่วนที่ให้พลังงานมาก ๆ ลง


ไม่ต้องออกกำลังกายก็หุ่นดีได้
          หากเราอยากจะหุ่นดี ไม่ใช่แค่มีน้ำหนักที่สมส่วน เราก็ต้องออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายบริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการกระชับสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งเราจะเล่นกีฬาบริการสัดส่วนต่าง ๆ เล่นโยคะ วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน หรือว่าว่ายน้ำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ทำให้เรามีร่างกายที่กระชับอย่างแน่นอน     

วุ้นเส้นคืออาหารลดน้ำหนัก
          วุ้นเส้นเป็นอาหารที่ทำมาจากถั่วเขียว แต่ก็เป็นถั่วเขียวที่สกัดเอาแต่แป้งออกมา ฉะนั้นวุ้นเส้นกว่า 90% นั้นคือแป้งที่สกัดมาจากถั่วเขียวนั่นเอง ที่เหลือเป็นโปรตีนและกากอาหาร ซึ่งถือว่ามีอยู่ในปริมาณน้อย

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

อำเภอกันทรลักษ์

อำเภอกันทรลักษ์
"กันทรลักษ์เมืองหลักการเกษตร  เขตประตูสู่เขาพระวิหาร  
งานพลาญผามออีแดง  แหล่งรวมวัฒนธรรม"


ประวัติ
         อำเภอกันทรลักษ์  เดิมชื่อ  เมืองอุทุมพรพิไสย”  ขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์  ตั้งอยู่ที่บ้านกันตวด  ตำบลห้วยอุทุมพรริมเชิงเขาตก   (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลกระสานต์  อำเภอจอมกระสานต์  จังหวัดพระวิหาร   ประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตยซึ่งต่อมาได้มีการย้ายสถานที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเมืองและอำเภอตามลำดับ  ดังนี้
        .. 2410 สมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อพระยาขุขันธ์ (วัง) ได้ขอตั้งบ้านห้วยลำแสนไพรอาบาลกับบ้านกันตวดขึ้นเป็นเมืองกันทรลักษ์  และแต่งตั้งพระแก้วมนตรี (พิมพ์ซึ่งเป็นยกกระบัตรเมืองขุขันธ์  เป็นพระกันทรลักษณ์บาล และให้เป็นเจ้าเมืองกันทรลักษณ์แล้ว  ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกันตวดห้วยอุทุมพรริมเชิงเขาตก  ขึ้นเป็นเมืองอุทุมพรพิไสย  ตรงกับปี พ.. 2411  พอดี  และในปีเดียวกันนั่นเอง  ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน  ฝรั่งเศส  ที่เมืองไซง่อน แห่งเวียดนาม  ได้มีหนังสือทักท้วงต่อรัฐบาลสยามว่า  เจ้าหน้าที่ของกรุงสยามได้ไปตั้งเมืองใหม่  รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนของฝรั่งเศส  ฉะนั้น  จึงทรงแต่งตั้งนายร้อยเอกหลวงอัศดร  นายร้อยเอกขุนอินทร์อนันต์และพระยาทรงพล  เป็นข้าหลวงฝ่ายไทยไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  ผลปรากฏว่า  เป็นจริงตามข้อกล่าวหา  จึงให้ย้ายเมืองกันทรลักษณ์มาตั้งที่บ้านลาวเดิม  (ปัจจุบัน  คือ  บ้านหลักหิน  ตำบลบักดอง  อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ   และเป็นที่ตั้งวัดกันทราวาสในโอกาสต่อมาส่วนเมืองอุทุมพรพิไสย  ก็ได้ย้ายจากบ้านกันตวดมาตั้งอยู่ที่บ้านผือเก่า (ปัจจุบัน  ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านผือใหม่ ตำบลเมือง  อำเภอกันทรลักษ์)
          .. 2411  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม  2411  ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง จุลศักราช 1230  หลังที่ได้กลับจากตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์  เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา  ในครั้งนั้น  ในขณะเดียวกันพระกันทรลักษณ์บาลก็เกิดการล้มป่วยด้วยพิษของไข้ป่า  และได้ถึงแก่กรรมในโอกาสต่อมา  บรรดาข้าราชการและประชาชนคนเมืองกันทรลักษ์ ต่างก็ตื่นกลัวการเป็นโรคไข้ป่าไม่อยากพักพาอาศัยอยู่ในเมืองกันทรลักษ์อีกต่อไป  จึงเป็นเหตุให้พระยาขุขันธ์ (วัง) ทำเรื่องราวขอย้ายเมืองนี้ไปตั้งอยู่ ณ ที่แห่งใหม่  ที่สุดก็ได้รับคำสั่งให้ยุบเมืองกันทรลักษ์ที่ตั้งอยู่ที่บ้านบักดองลาวเดิมยุบมารวมกับเมืองอุทุมพรพิไสย ที่ตั้งอยู่บ้านผือ     ตำบลเมือง  ตั้งแต่เดือน 12 ปี มะโรง พ.. 2411
         .. 2449  เมื่อยุบมารวมเป็นอำเภอเดียวกันแล้ว  นายร้อยตรีหรุ่น  ศุภประเสริฐ (ขุนอนันตภักดี)  เจ้าเมืองอุทุมพรพิไสย ได้เล็งเห็นว่า  บริเวณป่าจัมบกใกล้น้ำอ้อมทำเลดีมีความอุดมสมบูรณ์กว่าเมืองอุทุมพรไสย (บ้านผือ) จึงขอย้ายที่ทำการอำเภอเมืองอุทุมพรพิไสยมาตั้งอยู่ที่บ้านโนนบก ซึ่งอยู่ใกล้บ้านน้ำอ้อม  และได้พาราษฎรสร้างถนนจากเมืองอุทุมพรพิใสย (บ้านผือ) ตรงไปยังบ้านน้ำอ้อมผ่านหน้าโรงพยาบาลกันทรลักษณ์  โรงเรียนดำรงราชานุสรณ์  ที่ว่าการอำเภอ  ปศุสัตว์อำเภอ  วัดศิริวราวาส    และศูนย์การค้ากันทรลักษ์ (สถานีตำรวจภูธรเก่า) ไปยังบ้านน้ำอ้อม  และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนอนันตภักดี  จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนอนันตภักดีตั้งแต่ พ.. 2460  เป็นต้นมา
          .. 2452  ย้ายที่ตั้งอำเภอไปอยู่บ้านขนาเก่า  ตำบลน้ำอ้อม  เปลี่ยนชื่ออำเภออุทุมพรพิไสย  มาเป็นอำเภอกันทรลักษณ์
          .. 2455  ย้ายที่อำเภอกันทรลักษณ์ จากบ้านขนาเก่าไปตั้งที่บ้านผืออีกครั้ง
          .. 2459  กระทรวงมหาดไทยได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่  ให้เปลี่ยนคำว่า เมือง”  เป็น จังหวัดและเมืองบางแห่งก็มีการยุบและลดฐานะ  เรียกว่า อำเภอเมืองอุทุมพรพิไสย  จึงต้องลดฐานะเป็นอำเภออุทุมพรพิไสย
          .. 2460  นายอำเภอขุนอนันตภักดี ได้ขนานนามอำเภอใหม่ จากอำเภอ กันทรลักษณ์เป็นอำเภอ น้ำอ้อม
          .. 2480  เปลี่ยนชื่อจากอำเภอน้ำอ้อมมาเป็นอำเภอกันทรลักษณ์  จนถึงปัจจุบัน
          .. 2515  ในสมัยนายอำเภอสุวรรณ  สุภาผล  ได้มีการเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้องตามอักขระดั้งเดิม  โดยได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย  ให้เปลี่ยนจากที่เขียนว่า อำเภอ กันทรลักษณ์เป็นอำเภอ กันทรลักษ์”  มาจนถึงปัจจุบัน (โดยตัด ณ์ ออก เหลือไว้แค่ ษ แล้วใส่การันต์ ที่ ษ แทน)
                        กันทร (กัน-ทอน) แปลว่า ถ้ำ หรือ ซอกเขา
                        ลักษณ์ (ลักษณะ) แปลว่า เครื่องหมาย หรือ เป้า
                        แปลตามความหมายว่า เมืองที่มีถ้ำหรือซอกเขาเป็นเครื่องหมาย (พจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน 2525)

อาณาเขต
                ทิศเหนือ     ติดต่อกับอำเภอศรีรัตนะและอำเภอเบญจลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ
                ทิศใต้     ติดต่อกับอำเภอจอมกระสานต์  จังหวัดพระวิหาร ประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย  โดยมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นกั้นพรมแดน
                ทิศตะวันออก    ติดต่อกับอำเภอทุ่งศรีอุดม  อำเภอเดชอุดม  และอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
                ทิศตะวันตก     ติดต่อกับอำเภอขุนหาญ   จังหวัดศรีสะเกษ

สถานที่ท่องเที่ยว


ผามออีแดง  ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร  อยู่ปลายสุดของทางหลวงหมายเลข 221 ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ไปทางใต้ 34 กิโลเมตร  และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 98 กิโลเมตร  เป็นเส้นทางเดียวที่ติดต่อกับทางขึ้นเขาพระวิหาร  ผามออีแดงมีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติริมหน้าผาสูงติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชา  บริเวณจุดสูงสุดของผามออีแดง สามารถมองเห็นทัศนียภาพของปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างชัดเจน   บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก  และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไป  มีภาพสลักหินนูนต่ำ  ศิลปะเขมร  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15  สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งได้รับการประกาศเป็น  UN SEEN THAILAND 2
นอกจากนี้ยังเป็นประตูสู่ปราสาทเขาพระวิหาร  ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม  และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  จนได้รับการขนานนามจากผู้รู้และเคยเยี่ยมชมทั่วไปว่าเป็นเสมือนเพชรน้ำเอกบนยอดมงกุฎของเทพเจ้า  เพราะเป็นศาสนสถานที่สมบูรณ์  ทั้งแผนผังลวดลายสลักตกแต่งประณีต  ตั้งอยู่บนยอดเขาที่โดดเด่นและเป็นโบราณสถานที่ล้ำค่า  ควรแก่การรักษา  จนได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก



ปราสาทโดนตวล  ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิซรอล  ตำบลบึงมะลู  ห่างจากตัวอำเภอ 38 กิโลเมตร  ตามเส้นทางอำเภอกันทรลักษ์ ผามออีแดง  เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก   ที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงบนเทือกเขาพนมดงรักใกล้ชายแดนไทย กัมพูชา  ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมมุมก่อด้วยอิฐซุ้มประตูก่อด้วยศิลาและรูปสิงโตประจำหลักอยู่หน้าปราสาท

                น้ำตกภูละออ  อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก  ตำบลเสาธงชัย  การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 221 (กันทรลักษ์ ผามออีแดง) ถึงบ้านภูมิซรอลเลี้ยวขวา  เข้าถนนสายบ้านภูมิซรอล น้ำตกสำโรงเกียรติ  ประมาณ 8 กิโลเมตร  แล้วเลี้ยวซ้ายสู่น้ำตกภูละอออีก 2.5 กิโลเมตร  เป็นทางลาดยางตลอดสาย น้ำตกภูละออ  เป็นน้ำตกขนาดเล็กจะสวยงามในช่วงเดือนกันยายน กุมภาพันธ์  ทางเดินเท้าจากลานจอดรถถึงน้ำตกในระยะทางไป กลับ ประมาณ 4 กิโลเมตร  โดยทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้พัฒนาให้เป็นเส้นทางที่ให้ความรู้เรื่องพันธ์พืชและสภาพภูมิประเทศ  ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวในลักษณะเดินป่าศึกษาธรรมชาติ


น้ำตกวังใหญ่  อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก  บ้านก่อ หมู่ 7  ตำบลละลาย  อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เส้นทางการคมนาคม ออกเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ถึงอำเภอกันทรลักษ์ระยะทาง 65  กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอกันทรลักษ์เดินทางโดยถนนสายเขาพระวิหาร แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนที่ไปอำเภอขุนหาญ เลี้ยวซ้ายเข้าน้ำตกวังใหญ่ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร   สภาพของน้ำตก เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก รอบๆ บริเวณเติมแต่งเพิ่มความสวยงามทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีลำธารไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก น้ำตกมีความสูงประมาณ 5 เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดแนวน้ำตก และยังสามารถศึกษาพืชสมุนไพร ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวจะน่าเที่ยวมากที่สุด เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ


                  อ่างเก็บน้ำห้วยขนุน  เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก บรรจุปริมาณน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่เขตบ้านด่านใต้  หมู่ที่ ตำบลภูผาหมอก  อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบล ภูผาหมอกมีทัศนียภาพที่สวยงาม ต้นไม้หลากหลายนานาพันธ์  พร้อมมีพลาญหิน ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี   มีเทือกเขาล้อมรอบ ซึ่งสวยงามมาก 

                 
                  สวนเกษตรและผลไม้บ้านซำตารมย์  ตั้งอยู่ที่บ้านซำตารมย์ หมู่ที่ 7  ตำบลตระกาจ  อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ  การเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสวนเกษตร/ผลไม้ ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 65 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหมายเลข 221  ถึงสี่แยกการช่าง  เลี้ยวซ้ายมาตามทางหมายเลข 24 (ถนนโชคชัยเดชอุดม)  และห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหมายเลข 221  ถึงสี่แยกการช่างเลี้ยวขวาตามเส้นทางหมายเลข  24  (ถนนโชคชัย-เดชอุดม)  ถึงบ้านซำตารมย์เลี้ยวซ้าย ประมาณ  1  กิโลเมตร ก็ถึงสวนเกษตร/ผลไม้  ช่วงฤดูกาลในการท่องเที่ยวสวนเงาะ  ทุเรียน  คือ เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม


               ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ เกิดจากข้อคิดและเสนอแนะจากการประชุมสภาสุขาภิบาลและสภากาแฟโดยมีนายส่งศักดิ์  สาธุภาค  นายอำเภอกันทรลักษ์ในขณะนั้น  เป็นประธานที่ประชุมเมื่อวันที่10  กันยายน  2541  ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้น  ณ  ที่สาธารณะประโยชน์ป่าช้าโนนบก  หมู่ที่  1  ตำบลหนองหญ้าลาด  ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าลาด
               ต่อมาเมื่อวันที่  14  ตุลาคม  2541  อำเภอกันทรลักษ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นดังประกาศ  อำเภอกันทลักษ์  ลงวันที่  14  ตุลาคม  2541 
              เมื่อวันที่  19  มีนาคม  2542  ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ขึ้น  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ( นายพจน์  ใจมั่น  )  เป็นประธานฝ่ายฆราวาสมหาราชวรรณเทวี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานฝ่ายบรรพชิต  ซึ่งในครั้งนั้นได้มีพิธีการทางศาสนาและบวชชีพราหมณ์  เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็น  หลังจากนั้นคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย  ในการก่อสร้างศาลหลักเมือง  ได้ไปดูดวงชะตาบ้านเมืองจากโหร  ซึ่งโหรได้ทำนายทายทักว่าดวงชะตาเมืองกันทรลักษ์นั้น  ดวงโฉลกเป็นหิน  ท่านส่งศิทธิ์  สาธุภาค  และคณะกรรมการจึงได้ไปเสาะหาก้อนหินศิลาที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงามตามโฉลกชะตาเมืองตามที่โหรทำนายไว้ในที่สุด  ได้ไปพบก้อนศิลาดังกล่าวที่วัดภูมิซรอล  ตำบลเสาธงชัย  อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งก้อนศิลาแห่งนี้แกะสลักเพื่อทำเป็นเสาหลักเมืองที่อำเภอบ้านกรวด  จังหวัดบุรีรัมย์  โดยนายช่างผู้ชำนาญและช่างได้ทำการแกะสลักนานร่วมเดือนจนเสร็จจึงได้อัญเชิญกลับมายังอำเภอกันทรลักษ์  และได้จัดทำพิธีสมโภชหลักเมืองขึ้น  โดยได้อัญเชิญไปประกอบพิธีสมโภชตามตำบลต่างๆ  ในท้องที่อำเภอกันทนลักษ์  ทั้ง  20  ตำบล  แล้วได้อัญเชิญมาประกอบพิธีเฉลิมฉลองสมโภช  ณ  เทศบาลเมืองกันทรลักษ์  เพิ่มอีก  3  คืน  รวมทั้งสิ้นของพิธีการสมโภช  24  วัน  23  คืน  เสร็จและจึงได้อัญเชิญประดิษฐานไว้  ณ  หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองกันทรลักษ์  เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา    เพื่อรอการก่อสร้างศาลหลักเมืองให้แล้วเสร็จ
             เมื่อวันที่  18 พฤศจิกายน 2542  ได้จัดประกอบพิธีวางเครื่องมงคลพลีกรรมหลักเมืองขึ้น  โดยได้มอบหมายให้  หจก.บุญเพ็งก่อสร้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโดยสร้างศาลหลักเมืองจนสำเร็จ  และต่อมาทางคณะกรรมการได้ติดต่อ  หจก.พรอนันต์ก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร  มาทำการก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติม  ทั้งด้านนอกและด้านใน  เพื่อให้เกิดความสวยงาม  เด่นสง่า  เหมาะสมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  และสักการะของประชาชนต่อไป  ทางคณะกรรมการได้มอบหมายให้  หจก.ทรัพย์ทวีก่อสร้างกันทรลักษ์เป็นผู้ปรับภูมิทัศน์รอบศาลหลักเมืองทั้ง 4 ด้าน  ให้เด่นสง่าและสวยงามดังเช่นปัจจุบัน
             วันที่  23  ธันวาคม 2547  ได้ทำการประชุมคระกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกอบพิธีอัฐเชิญหลักเมืองไปประดิษฐาน  ณ ศาลหลักเมืองแห่งใหม่  ซึ่งทำการก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยกำหนดประกอบพิธีอัญเชิญไปประดิษฐาน  ณ ศาลหลักเมืองแห่งใหม่ในวันที่  29  มกราคม 2548  ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป
            เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2549  เทศบาลเมืองกันทรลักษ์  ได้จัดพิธีเปิดศาลหลักเมืองอย่างเป็นทางการ  โดยในวันที่13 ธันวาคม 2549 มีพิธีบวชชีพรามณ์ตลอดคืน  และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  จำนวน   108   รูป   บำเพ็ญธัมจารี   และในวันที่  14   ธันวาคม   2549  เมื่อเวลา  09.30 น. นายสันทัด  จตุชัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ให้เกียติเป็นประธานในพิธีเปิดศาลหลักเมือง
            วันที่  13 – 14  ธันวาคม  ของทุกปี  เทศบาลเมืองกันทรลักษ์จัดพิธีสมโภชน์ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ประจำทุกปี